ความเป็นมา
สถาบันไทยคดีศึกษา (Thai Khadi Research Institute) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2514 ในชื่อ "โครงการไทยคดีศึกษา" มีวัตถุประสงค์เมื่อแรกตั้งคือ เพื่อส่งเสริมการวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับสังคมไทย เพื่อส่งเสริมการเรียบเรียงตำราที่เกี่ยวกับสังคมไทย เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของสังคมไทยที่จะไปทำการค้นคว้าและสอน และเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสังคมไทยแก่ประชาชนทั่วไป นับเป็นสถาบันแห่งแรกของประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อทำหน้าที่ศึกษาเรื่องของไทยขึ้นอย่างเฉพาะทาง โดยได้รับกำลังสนับสนุนทางความคิดและทุนทรัพย์จากผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน อาทิ ศาสตราจารย์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในขณะนั้น ทรงเป็นผู้ประทานคำแปลศัพท์อังกฤษ "Thai Studies" ว่า "ไทยคดีศึกษา" ให้เป็นชื่อของโครงการ และยังทรงบริจาคทรัพย์ตั้งเป็นกองทุน "นราธิปพงศ์ประพันธ์ -สุพิณ" เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการ โดยมีศาสตราจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นประธานกรรมการบริหารโครงการไทยคดีศึกษา และเป็นผู้สนับสนุนการก่อตั้งคนสำคัญ อีกทั้งการมาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารโครงการฯ ของท่าน เป็นที่มาของการตั้งโรงโขนธรรมศาสตร์ขึ้นในครั้งนั้นด้วย ส่วนผู้อำนวยการคนแรกของโครงการไทยคดีศึกษา คือ อาจารย์ ดร.นิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 โครงการไทยคดีศึกษาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น "สถาบันไทยคดีศึกษา" มีฐานะเทียบเท่าคณะวิชา ทำหน้าที่เป็นสถาบันเพื่อการวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และให้ดำเนินการวิจัยเพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัยในด้านการเรียนการสอนและการพัฒนาประเทศ จากนั้นปี พ.ศ. 2520 สถาบันฯ ได้ขยายขอบเขตบทบาทเป็นศูนย์รวมการวิจัยทางวิชาการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนับสนุนและส่งเสริมตลอดจนให้บริการเพื่อการวิจัยภายในมหาวิทยาลัยในลักษณะของการวิจัยเชิงสหวิทยาการ โดยให้ทุนอุดหนุนการวิจัยและให้บริการทางด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานวิจัย และการเผยแพร่ผลงานวิจัย
สถาบันไทยคดีศึกษาได้ดำเนินงานตามพันธกิจที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มอบหมาย คือ เป็นสถาบันวิจัยที่สร้างงานวิจัย เป็นศูนย์รวมการจัดสรรทุนสนับสนุนการวิจัยของมหาวิทยาลัย ให้บริการวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ถึงแม้ว่าในปี พ.ศ. 2540 มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการให้บริการด้านการบริหารงานวิจัย และดำเนินการวิจัยในนามมหาวิทยาลัยก็ตาม แต่ทั้งสองสถาบันมีหน้าที่หลักแตกต่างกัน สถาบันไทยคดีศึกษายังคงดำเนินงานตามพันธกิจดังกล่าวมาได้โดยลำดับ จนเมื่อสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติมีระเบียบการพิจารณาทุนสนับสนุนการวิจัยแบบใหม่ โดยกำหนดให้มหาวิทยาลัยตั้งคณะกรรมการขึ้นทำหน้าที่กลั่นกรองคุณภาพโครงการ พร้อมทั้งจัดเรียงตามลำดับความสำคัญของโครงการส่งให้กับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเพื่อขออนุมัติทุนสนับสนุนต่อสำนักงานงบประมาณ ผู้บริหารสถาบันไทยคดีศึกษาในขณะนั้นจึงพิจารณาเห็นสมควรยกเลิกหน้าที่การเป็นศูนย์รวมการจัดสรรทุนวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2548
ตลอดช่วงเวลาของสถาบันไทยคดีศึกษา ทิศทางการดำเนินงานวิจัยได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามกระแสและนโยบายของผู้บริหารในขณะนั้น เช่น
ช่วงปี พ.ศ. 2521 - 2525 มุ่งเน้นการวิจัยในด้านการพัฒนาชนบท
ช่วงปี พ.ศ. 2525 - 2536 มุ่งส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับไทยศึกษา การตระเตรียมข้อมูลพื้นฐานสำหรับการวิจัยและส่งเสริมให้มีการค้นคว้าวิจัยโดยอาจารย์และข้าราชการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในด้านการเรียนการสอนด้านสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ โดยจัดตั้งศูนย์สนเทศเพื่อการวิจัยไทยคดีศึกษาในปี พ.ศ. 2525 นอกจากนี้ใน พ.ศ. 2529 เมื่อมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อขยายการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยฯ ด้านวิทยาศาสตร์และสุขศาสตร์ สถาบันฯ ยังได้สนับสนุนทุนการวิจัยครอบคลุมสาขาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย
ช่วงปี พ.ศ. 2536 - 2542 สถาบันวางแผนพัฒนาการผลิตงานวิจัย โดยสนับสนุนให้มีการทำวิจัยในรูปแบบต่าง ๆ เช่น โครงการวิจัยเชิงวิชาการ โครงการวิจัยเชิงพัฒนา และโครงการวิจัยเชิงสำรวจ ทั้งนี้เพื่อพัฒนาสถานภาพทางวิชาการ มีการแลกเปลี่ยนนักวิจัย (Visiting Researcher) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือในการเก็บข้อมูลภาคสนาม เช่น โครงการศึกษาวัฒนธรรมไท-ไทย ในประเทศจีน พม่า ลาว เวียดนาม และไทย รวมทั้งส่งเสริมโครงการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม บริการวิชาการแก่สังคม และสนับสนุนให้นักวิจัยของสถาบันรับทุน อุดหนุนจากแหล่งทุนจากภายนอก ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นแนวที่ใช้ดำเนินงานต่อมา
ช่วงปี พ.ศ. 2542 - 2546 ดำเนินแนวทางการวิจัยเช่นเดิมและมุ่งเน้นส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมและศิลปะไทยมากขึ้น เพื่อให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไปมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยอันเป็นสิ่งสำคัญในการจรรโลงวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่กับสังคมไทย
ช่วงปี พ.ศ. 2546 - 2549 ทำหน้าที่วิจัยค้นคว้าด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในเรื่องของไทยอย่างมีทิศทางที่สอดคล้องกับนโยบายและแนวทางการวิจัยของชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2545 - 2549) ด้านการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมโดยให้ความสำคัญกับเป้าหมายการวิจัยที่เน้นคุณภาพทางวิชาการและเป็นประโยชน์ต่อสังคม และยังได้นำวิธีบริหารแบบใหม่ตามหลักการปฏิรูประบบราชการที่เน้นรูปแบบการทำงานในรูปคณะกรรมการในแต่ละกิจกรรม
ช่วงปี พ.ศ. 2549 - 2555 มุ่งเน้นการบริการทางการวิจัยและพัฒนาการทำวิจัยด้านไทยคดีศึกษา โดยต่อยอดศักยภาพเดิมที่มีอยู่แล้วของสถาบันไทยคดีศึกษา ทั้งที่เป็นการวิจัยพื้นฐาน การวิจัยและพัฒนา การวิจัยแบบสหสาขาวิชา ตลอดจนการวิจัยเพื่อภูมิภาคศึกษาทางด้านวัฒนธรรม และเน้นภารกิจการทำนุบำรุงรวมถึงการเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริม ความเป็นผู้นำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทางด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
ช่วงปี พ.ศ. 2555 - ปัจจุบัน อยู่ในทิศทางว่าจะส่งเสริมให้นักวิจัยผลิตงานวิจัยตามความถนัด โดยอยู่ในแนวทางการวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และแผนยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมชาติ
ปัจจุบันสถาบันฯ มุ่งให้ความสำคัญต่อการสร้างงานวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคมเพื่อสนับสนุนการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมในระดับที่ใกล้เคียงกัน ด้วยตระหนักถึงความสำคัญและจำเป็นต่อการนำองค์ความรู้ที่สถาบันฯ ได้สร้างสมมาตั้งแต่ต้นแล้วนำมาเผยแพร่สู่สังคมในระดับที่เข้มข้นมากขึ้น